การสูญพันธุ์ของถนนสายต้นยางเชียงใหม่-ลำพูน





เป็นวาบความคิดหลังการสนทนาบล็อกเกอร์ภาคเหนือเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมาเกี่ยวกับประเด็นผังเมืองเชียงใหม่ผลกระทบต่อชุมชน และได้มีการแตะไปถึงการขยายตัวของเมืองและโครงข่ายคมนาคมของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเกี่ยวพันไปกับทุนอสังหาริมทรัพย์ที่กระจายตัวล้อมรอบตัวเมือง ซึ่งมีประเด็นหนึ่งได้กล่าวถึงการขยายถนนจากย่านวัดเกตุ ยางไปถึงถนนสายต้นยาง (นา) เชียงใหม่ – ลำพูน ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าอนาคตจะยังเหลือถนนที่มีต้นยางที่สวยงามที่สุดในประเทศแห่งนี้หรือไม่

ไม่มีใครรับประกัน เพราะถนนสายหนึ่งที่เคยถูกกระทำมาแล้วคือถนนต้นพะยอม หรือคะยอม ที่ถูกตัดไปในช่วงครบ 700 ปี เมืองเชียงใหม่เพื่อให้มีการขยายถนนสุเทพหลังมช. และถึงปัจจุบันคนก็ลืมเลือนไปว่ากาดต้นพะยอมมีความเป็นมาจากอะไร


ผมชอบมากหากไปลำพูนแบบไม่รีบเร่งต้องไปถนนสายนี้ ซี่งไม่สามารถขับรถเร็วได้ หากต้องการเดินทางไปด่วนต้องไปถนนสายเชียงใหม่ – ลำปาง แต่ช่วงหลังยอมรับว่าเวลาทำให้ผมใช้เส้นทางนี้น้อยลง แต่ไม่สามารถลืมถนนเส้นนี้ได้เพราะเป็นเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ เพราะมีความยาวตั้งแต่ย่านหนองหอยจนถึงสารภี แม้ขับรถอยู่ถนนไกล ๆ ก็ยังเห็นต้นยางสูงตระหง่านเป็น Land Mark อยู่ตลอด

เบื้องต้นผมประมวลการสูญพันธุ์ของถนนประวัติศาสตร์สายต้นยางเชียงใหม่ – ลำพูนแห่งนี้ไว้ 4 -5 ด้านด้วยกัน

1.) การทำร้ายของมนุษย์ด้วยความโลภ หรือความไม่รู้ บางคนต้องการขยายหน้าร้านพื้นที่เพิ่มก็เอาสว่านเจาะ ใช้ดินประสิวใช้น้ำร้อน ตะปูตอกติดป้ายโฆษณา การเทซีเมนต์ล้อมรอบโคนต้น ทำลายราก ให้ต้นไม้ตายซากเพื่อจะได้โค่นทิ้ง กระทั่งมีการกำหนดกลยุทธ์ออกมาว่าหากใครทำลายต้นยางนา จะมีบาปกรรมเทียบเท่ากับการฆ่าพระฆ่าเณร ก็รักษามาได้ระดับหนึ่งแต่ปัจจุบันนี้มีแนวโน้มว่าคำขู่นี้จะอ่อนแรงทุกที

2.) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเมืองด้วยถนนตัดใหม่ หรือตามกฎหมายผังเมืองที่จะขยายถนนกว้าง 20 เมตร

3.) ด้วยอายุขัยของต้นไม้ หรือธรรมชาติเอง เช่น จากลมพายุ หรือถูกเชื้อราและแมลงเข้าไปทำลายทำให้เนื้อไม้ผุและเกิดเป็นโพรง เป็นต้น

4.) การสร้างอันตรายกับการสัญจรก็เป็นทั้งข้อเท็จจริงและข้ออ้างในการตัดต้นยางไปหลายต้นแล้ว

5.) การหลงลืมความเป็นถนนประวัติศาสตร์ของคนรุ่นห
ลัง

แต่ในทางการดูแลรักษาผมทราบว่าล่าสุดถนนสายนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่แล้ว แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงที่จะผิดปกติไปจากธรรมชาติผมคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องครับ โดยเฉพาะเรื่องการที่คนโลภหรือไม่รักต้นไม้รังแก หรือการรังแกด้วยกฎหมาย และการไม่หวงแหนสิ่งที่มีค่าที่สุดกับเมืองเชียงใหม่ นี่สำคัญมากกว่า


ผมมีความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาถนนนี้เชิงการท่องเที่ยว-อนุรักษื คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อบจ. อบต.ในพื้นที่น่าจะจัดงานเชิงประวัติศาสตร์ – วัฒนธรรมของถนนสายนี้ในปีที่ 125 เป็นถนนที่ปลูกต้นยางใหญ่ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลก   ที่สวยงาม เก่าแก่  ในประเทศไทยมีที่นี่แห่งเดียว  900 กว่าต้น ซึ่งแต่ละต้นมีขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณเมตรครึ่ง ปลูกมานานกว่า 100 ปี สามารถจัดเป็น Unseenได้อีกแห่ง และสามารถจัด Event ตลอดทั้งสายให้ย้อนยุคเป็นล้อเกวียน การขายของแบบโบราณ ซึ่งสามารถดึงนักท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาล หากจัดได้จะเป็นงานระดับนานาชาติของเชียงใหม่อีกงานหนึ่งเลยทีดียว

หากจะประมาณการต้นยางในปัจจุบันแล้วผมคิดว่าน่าจะมีไม่เกิน  900 ต้น แต่ก่อนหน้านั้นในปี 2537 – 2546 มีต้นยางยืนตาย ถูกฟ้าผ่า พายุพัดโค่นล้ม 7 ต้น และกรมโยธาขอตัดออก เพื่อก่อสร้างถนนวงแหวน รอบกลาง สาย อีก ต้น รวม 75 ต้น ปัจจุบันเหลือต้นยาง 936 ต้น

ขณะที่มีตัวเลขอีกด้านหนึ่งเมื่อปี พศ. 2539 มีจำนวน 1107 ต้น ( Pooma, 1996) ต้นยางนาที่เหลืออยู่ บางต้นอยู่ในสภาพทรุดโทรม ต้นที่ตายแล้วจะต้องถูกตัดทิ้ง บางต้นลำต้นหรือกิ่งเป็นโพรงผุ หรือเป็นแผลขนาดใหญ่ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การบดอัดผิวถนน การเทซีเมนต์ล้อมรอบโคนต้นและพื้นที่โดยรอบ ขับขี่ยานพาหนะเข้าชนหรือกระแทก การทิ้งขยะสารเคมี และสิ่งของต่างๆ แล้วเผา บริเวณโคนต้น การติดป้ายโฆษณาหรือที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งคือ การจงใจทำให้ต้นยางนาตายโดยใส่สารพิษบริเวณโคนต้นให้รากดูดซับเข้าไป สำหรับสาเหตุที่เกิดจากธรรมชาติได้แก่ การถูกลมพัดทำให้โค่นล้มหรือกิ่งหัก ถูกเชื้อราและแมลงเข้าไปทำลายทำให้เนื้อไม้ผุและเกิดเป็นโพรง เป็นต้น

ปี 2536 แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 2 กรมทางหลวง สำรวจตรวจนับต้นยางที่อยู่ในเขตทางหลวงมี 1,011 ต้น แต่มีต้นยางบางต้นยืนแห้งตาย จึงประสานสำนักงานป่าไม้จังหวัด ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ตัดไม้ยางออก ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่กำหนดไว้ว่า การตัดโค่นไม้ยางต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หากตัดโดยพลการจะมีความผิดตามกฎหมาย

ประวัติย่อถนนสายต้นยาง


สำหรับประวัติโดยย่อของถนนสายต้นยางใหญ่  มีดังนี้คือเมื่อปี พ.ศ.2442 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ซึ่งสยามประเทศได้มีการจัดการปกครองส่วนภูมิภาคจากเมืองประเทศราชมาเป็นรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล มีข้าหลวงจากรัฐบาลกรุงเทพมาปกครองเชียงใหม่ในเวลานั้นอยู่ในช่วงปลายสมัยเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 รัฐบาลส่วนกลางก็ยกเลิกอำนาจการปกครองของเจ้าหลวง ให้ข้าหลวงประจำเมืองทำหน้าที่แทน แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง "เจ้าหลวง" เอาไว้เป็นประมุขของเชียงใหม่

เมืองเชียงใหม่ในสมัยต้นปลายสมัยพระเจ้าอินทวโรรส   เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่   ซึ่งอยู่ในความดูแลของ     "ข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพ"    ผู้ดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนแรกของมณฑลพายัพ  คือ   เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์  (เชยกัลยาณมิตรท่านได้กำหนดนโยบาย  ที่เรียกว่า "น้ำต้อง กองต๋ำ" ซึ่งหมายถึงการพัฒนาคูคลองร่องน้ำ  การตัดถนนหนทางและการปรับปรุงถนนหลวงให้ความร่มรื่นแก่ผู้สัญจรไปมา    จึงเป็นต้นกำเนิดต้นไม้ริมทางหลวง  โดยกำหนดให้ทางหลวงแต่ละสายปลูกต้นไม้ไม่ซ้ำกัน กล่าวคือ

ถนนสายเชียงใหม่-สันป่าตอง ปลูกต้นขี้เหล็ก (ปัจจุบันไม่เหลือหรอ)

ถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ปลูกต้นประดู่ (ปัจจุบันไม่เหลือหรอ)

ถนนรอบคูเมือง ปลูกต้นสักกับต้นสน (ปัจจุบันไม่เหลือหรอ)

ถนนในเมือง ประดับด้วยต้นโอ๊คพันธุ์เมืองหนาว (ปัจจุบันไม่เหลือหรอ)

(ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง, เพ็ชร์ล้านนา, 2507, หน้า 143-144)

สำหรับสายต้นยางนั้น เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ เป็นผู้ริเริ่มนำพันธ์ต้นยางมาปลูกสองข้างทางจากขัวย่านอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่จนจรดเขตอำเภอเมืองลำพูน ท่านกำชับว่า ถ้าต้นยางตรงกับหน้าบ้านผู้ใดก็ให้เจ้าของบ้านผู้นั้นเอาใจใส่ทำรั้วล้อมรอบ เพื่อกันวัวควายเข้ามาเหยียบย่ำ และให้หมั่นรดน้ำพรวนดินดายหญ้าใส่ปุ๋ย ท่านนำพันธ์ต้นยางมาปลูกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2425 สำหรับการปลูกต้นยางสารภีนั้น เริ่มต้นปลูกอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ.2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นับจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ (พ.ศ. 2551) รวมเป็นเวลา 126 ปี

ย้อนประวัติศาสตร์ถนนสายต้นยางนา

ประมาณปี พ.ศ. 1837 พญามังรายทรงสถาปนาเวียงกุมกามให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา แต่เนื่องจากเวียงกุมกามเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ จึงย้ายมาอยู่ที่เวียงเชียงใหม่ ซึ่งทำเลที่ตั้งเหมาะสมกว่าในอดีตการคมนาคมระหว่างเชียงใหม่เวียงกุมกาม เวียงหริภุญไชยและอาณาจักรอื่นๆ จะใช้แม่น้ำปิงเป็นหลัก ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ แม่น้ำปิงเปลี่ยนร่องน้ำจากเดิมไหลผ่านด้านทิศตะวันออกของเวียงกุมกามมาเป็นด้านทิศตะวันตก ร่องน้ำเดิมถูกตะกอนทับถมจนตื้นเขิน เหลือเป็นเพียงร่องน้ำขนาดเล็ก ชาวบ้านเรียกร่องน้ำนี้ว่าปิงห่าง (สรัสวดี,2537)

ต่อมามีการตั้งบ้านเรือนตามแนวปิงห่างมากขึ้นเกิดเป็นชุมชนหลายแห่ง ชุมชนแต่ละแห่งมีการติดต่อไปมาหาสู่เป็นประจำ จึงเกิดเป็นทางสัญจรระหว่างชุมชนและพัฒนาเรื่อยมาเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญระหว่างเชียงใหม่กับลำพูน และมีการปรับปรุงและซ่อมแซมตลอดมา ประมาณปี พ.ศ.2438 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียง ได้ปรับปรุงและขยายเส้นทางสายนี้ให้กว้างขึ้น จนเกวียนสามารถเดินได้ (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.ศ. 114)

ในปี พ.ศ. 2449 ( ร.ศ. 124) เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ได้ปรับปรุงเส้นทางสายนี้อีกครั้งโดยให้ มิสเตอร์ โรเบิร์ต ข้าหลวงโยธาเป็นผู้ให้คำแนะนำซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ทำให้เส้นทางสายนี้สภาพดีขึ้นและมีความกว้างกว่า 3 วา เท่ากันตลอดทั้งเส้น (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.ศ. 124) เป็นที่มาของถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ ถนนสายนี้เริ่มต้นที่เชิงสะพานนวรัฐ ตรงไปตำบลหนองหอย และเริ่มเลียบแนวปิงห่างที่วัดกู่ขาวไปจนถึงลำพูน โดยถนนบางช่วงอยู่บนผนังดินดินธรรมชาติของปิงห่าง มีความยาวทั้งหมด27.25 กิโลเมตร ความกว้างผิวทางเฉลี่ย 5.98 เมตร ต้นยางนาสองข้างท่งถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนคาดว่าปลูกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2445 (Loetsch & Halle, 2505) โดยปลูกต้นยบางในเขตเชียงใหม่และปลุกต้นขี้เหล็กในเขตลำพูนและมีการกำหนดกฎระเบียบ ในการดูแลรักษาอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามเลี้ยงสัตว์บนเขตถนนและที่ทำการของราชการ หากสัตว์เลี้ยงของผุ้ใดเหยีบย่ำต้นไม้ที่ปลูกไว้จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.ศ. 120)

ถ้าต้นยางนาปลูกตรงกับหน้าบ้านใด ก็ให้เจ้าของบ้านผู้นั้นเอาใจใส่ทำรั้วล้อมรอบ เพื่อกันวัวควายเข้ามาเหยียบย่ำ และให้หมั่นรดน้ำพรวนดินดายหญ้า ใส่ปุ๋ย สำหรับต้นยางนาที่ไม่ตรงกับหน้าบ้านผู้ใดจะมอบหมายให้หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงรับผิดชอบ โดยให้หัวหน้าหมู่บ้านนำลูกบ้านมาช่วยกันดูแลรักษา(เทศบาลตำบลยางเนิ้ง,2546) ด้วยเหตุนี้ต้นยางนาจึงเจริญเติบโตได้ดีและสวยงามมาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้

ประวัติถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน

ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน (สายเก่า) นี้ มีความผูกพันกับแม่น้ำปิงห่าง ต้นยาง และต้นขี้เหล็กอย่างแยกไม่ออก แต่เดิมแม่น้ำปิงตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานพื้นเมืองล้านนาเชียงใหม่ ชินกาลมาลีปกรณ์ จะไหลผ่านทางทิศตะวันออกของเวียงกุมกามและทิศตะวันออกของตัวเมืองหริภุญชัยและวัดอรัญญิกรัม มการาม (วัดดอนแก้ว) ซึ่งเป็นสี่มุมเมืองในสมัยพระนางจามเทวี คงอยู่ในพื้นที่ฝั่งเดียวกับตัวเมืองลำพูน ในพงศาวดารโยนกกล่าวถึงพญามังรายยึดครองเมืองหริภุญชัยได้และไปสร้างเมืองใหม่ในทางทิศอีสานของเมืองหริภุญชัยชื่อ ชะแว ได้ 3 ปี เกิดน้ำท่วมจึงไปสร้างเมืองกุมกาม แม่น้ำปิงคงเปลี่ยนทางเดินไหลผ่านเข้าในตัวเมืองหริภุญชัยและไหลผ่านหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัยในสมัยพญามังราย ระยะทางจากเวียงกุมกามถึงตัวเมืองหริภุญชัยประมาณ 25 กิโลเมตร จนถึงสิ้นราชวงศ์มังราย


ในสมัยท้าวแม่กุ (พระเจ้าเมกุฏิ) พ.ศ.2101 แม่น้ำปิงยังไหลผ่านทางทิศตะวันออกของเวียงกุมกามและทิศตะวันออกของตัวเมืองหริภุญชัยอยู่ แต่ในระหว่าง พ.ศ.2101 ถึง พ.ศ.2317 พม่าเข้าปกครองล้านนา เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ไม่มีการบันทึก จนถึง พ.ศ.2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพขึ้นมาตามแม่น้ำปิงสายปัจจุบันนี้ ที่ไหลผ่านทิศตะวันตกของเวียงกุมกามและทิศตะวันตกของเมืองหริภุญชัย แสดงว่าแม่น้ำปิงเปลี่ยนร่องน้ำจากเดิมในช่วงที่พม่าปกครองล้านนา แม่น้ำปิงระหว่างเวียงกุมกามกับเมืองหริภุญชัยจึงกลาย เป็นแม่น้ำปิงห่าง แต่แม่น้ำปิงห่างตั้งแต่บ้านหลิ่งห้า อำเภอเมืองลำพูนไหลไปพบแม่น้ำปิงสายปัจจุบันที่อำเภอป่าซาง ยังมีน้ำจากแม่น้ำกวงไหลลงสู่ลำน้ำปิงห่างอยู่ ซึ่งปัจจุบันจึงเรียกแม่น้ำช่วงนี้เป็น แม่น้ำกวง

แม้จะเป็นแม่น้ำปิงห่าง แต่ก็ยังเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่ใช้ติดต่อกันระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองลำพูน อารยธรรมลุ่มแม่น้ำปิงห่างยังปรากฏให้เห็นในการตั้งหมู่บ้านตลอดแนวแม่น้ำและมีวัดสร้างริมฝั่งแม่น้ำตลอดแนวแม่น้ำปิงห่าง ประมาณ 30 วัด

การตั้งถิ่นฐานไปตามแนวแม่น้ำปิงห่าง ทำให้เกิดเส้นทางคมนาคมทางบกเลียบแนวแม่น้ำปิงห่าง เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางสำคัญของการติดต่อระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองลำพูนในเวลาต่อมา และมีการพัฒนาเส้นทางขึ้นตามลำดับ ตามหลักฐานของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้มีการสร้างถนนอย่างเป็นทางการขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2438 โดยพระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียง เริ่มสร้างตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ เลียบแนวแม่น้ำปิงห่างที่วัดกู่ขาว จนถึงเมืองลำพูน ทำให้การคมนาคมในแม่น้ำปิงห่างขาดความสำคัญ และประชาชนได้บุกรุกเข้าอยู่อาศัยจนไม่เหลือสภาพการเป็นแม่น้ำที่สำคัญในอดีตให้เห็น ยกเว้นในบางช่วงในเขตเทศบาลตำบลอุโมงค์อำเภอเมืองลำพูน

ถนนสายนี้ส่วนหนึ่งสร้างบนผนังดินธรรมชาติของแม่น้ำปิงห่าง ถนนสายนี้นับเป็นถนนที่มี ความสำคัญและเป็นถนนสายแรกที่เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างเมืองทั้งสอง มีการซ่อมแซมปรับ ปรุงตลอดมา โดยเฉพาะที่ระบุไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2443 พ.ศ.2448 และในปี พ.ศ.2454 ทางราชการได้นำต้นยางมาให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกตลอดสองข้างทาง เพื่อความร่มรื่นและสวยงาม ส่วนในเขตเมืองลำพูนได้ปลูกต้นขี้เหล็ก ต้นไม้ตลอดเส้นทางของถนนสายนี้มีร่วมสองพันต้น มีการปลูกเป็นแถวอย่างมีระเบียบ มีระยะห่างกันระหว่างต้นประมาณ 10 ถึง 20 วา ตลอดเส้นทาง

นับเป็นเอกลักษณ์คู่ถนนสายนี้ตลอดมาร่วมร้อยปีแล้ว ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวของชุมชนเข้าสู่การเป็นชุมชนเมืองมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการขาดการวางแผนการป้องกันระยะยาวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะถนนสายนี้ ทำให้มีก่อสร้างอาคารร้านค้าและที่พักอาศัยใกล้ชิดติดแนวถนนและการใช้ที่สาธารณะข้างถนนโดยขาดการอนุรักษ์ต้นไม้ มองเฉพาะด้านความปลอดภัยและผลประโยชน์ของบุคคลและกลุ่มคน ทำให้จำนวนต้นไม้ลดจำนวนลงอย่างมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าสภาพเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เอกลักษณ์ของต้นยาง-ต้นขี้เหล็กที่เคียงคู่กับถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน คงจะเหลือเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานให้อนุชนรุ่นหลังเท่านั้น(คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมาย เหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ, วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดลำพูน 2542 หน้า 275-277)


ลักษณะทั่วไปของต้นยางนา
ต้นยางนา หรือ ยาง ยางขาว ยางแม่น้ำ ยางหยวก มีชื่อวิทยศาสตร์คือ Dipterocarpus alatus. ex G.Don จัดอยุ่ในวงศ์ไม้ยาง (Family Dipterocarpaceae)

ต้นยางนาเป็นต้นไม้สูงถึง 50 เมตร ไม่ผลัดใบ หรือผลัดใบแต่ผลิใบใหม่เร็ว ลำต้นเปลา ตรง เปลือกหนา ค่อนข้างเรียบ สีเทาอบขาว เปลืกในสีน้าตาลอบชมพู โคนต้นมักเป็นพูพอน เรือนยอดเป็นพุ่ม เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง หูใบ สีเทาอมเหลือง มีขนนุ่ม ใบเดียวรูปไข่หรือรีแกรมรูปขอบขนาน ปลายใบทู่หรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ เล็กน้อยแผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนประปราย ดอกสีชมพู ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใกล้ปลายกิ่ง โคนกลีบเลี้ยงมีครีบตามยาว 5 ครีบ ส่วนกรีบดอกจะเกยซ้อนเวียนเป็นรูปกังหันผลกลมรี ยาว3-4 ชม. มีครีบตามยาว 5 ครีบ ปีกคู่ยาว2ปีก แต่ยาวไม่เกิน 16 ชม. ปีกสั้น 3 ปีกรูปหูหนู ทั้งเส้นตามยาวและเส้นแขนงย่อยมักคดไปมาไม่ค่อยเป็นระเบียบ ตามธรรมชาติจะพบตามป่าดิบแล้งและเบญจพรรณขึ้นทั่วไปออกดอกเป็นผลระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ แต่เมล็ดที่นำมาเพาะควรมีอายุไม่เกิน 10 วัน หลังจากร่วงจากต้น การปลูกระยะแรกต้องมีร่มเงาบังแดด และมีความชุ่มชื้นพอควร

ต้นยางนามีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่บังกลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมีรายงานว่าพบแถบอันดามันและตอนบนของมาเลเซีย ในประเทศไทยต้นยางนามักพบขึ้นอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำทั่วไปในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ในระดับความสูงไม่เกิน 350 เมตรพบน้อยที่ต้นยางนาจะขึ้นในที่สูงเกินกว่าระดับนี้

ลำต้นของต้นยางนามีขนาดใหญ่ เปลาตรง แตกกิ่งก้านน้อย สามารถแปรรูปเป็นไม้แปรรูปหน้าใหญ่ มีความยาวไม่คดงอ เนื้อไม้มีความคงทนและทำไม้อัดได้คุณภาพดี นอกจากนี้ต้นยางนาสามารถผลิตน้ำมันยาง (Oleoresin) ซึ่งใช้ประโยชน์ในการทำไต้ น้ำมันชักเงา น้ำยาป้องกันรักษาไม้ไผ่ หมึกพิมพ์ ยาเรือ ตะกร้า ภาชนะต่างๆ

บทสรุป

ผมหวังไว้อย่างเดียวว่าต้นยางสายเชียงใหม่ – ลำพูนจะคงอยู่ และเสื่อมสลายไปกับธรรมชาติมากกว่าที่จะเป็นน้ำมือมนุษย์และกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น

อ้างอิง


2.)   เว็บของเทศบาลตำบลสารภี http://www.saraphi.com / เทศบาลตำบลยางเนิ้ง www.theyang.go.th










 โดยคุณ อาคม ข้อความ และรูปภาพจาก :www.oknation.net